วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มหาสติปัฏฐานสูตร

มหาสติปัฏฐาน หมายถึง ธรรมเป็นอารมณ์ของสติ , ขัอปฏิบัติอันมีสติเป็นประธาน ได้แก่ การตั้งสติสัมปชัญญะ เพียรพิจารณากาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อกำจัดอภิชฌาและโสมนัสในโลกให้ได้
มหาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุในสมัยที่ประทับอยู่ ณ กัมมาสธัมมะ รัฐกุรุ มีใจความย่อว่า “ภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นหนทางเดียว (คือ ๑. เป็นทางที่บุคคลผู้ละการเกี่ยวข้องกับหมู่คณะไปประพฤติธรรมอยู่แต่ผู้เดียว ๒. เป็นทางสายเดียวที่พระพุทธเจ้าทรงทำให้เกิดขึ้น ๓. เป็นทางปฏิบัติในศาสนาเดียวคือศาสนาพุทธ ๔. เป็นทางดำเนินไปสู่จุดหมายเดียวคือพระนิพาน) เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อความดับทุกข์และโสมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม(อริยมรรค) เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ คือ เป็นผู้มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะในกิจ ๔ ประการ คือ
๑. พิจารณาเห็นกายในกาย
๒. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
๓. พิจารณาเห็นจิตในจิต
๔. พิจารณาเห็นธรรมในธรรม
กำจัดอภิชาและโทมนัส สติปัฏฐาน ๔ นี้เรียกอีกอย่างว่า เอกายนมรรค
การเจริญเอกายนมรรคเพื่อผล ๕ ประการ คือ
๑. เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
๒. เพื่อพ้นจากความเศร้าโศก และความร่ำไรรำพัน
๓. เพื่อดับทุกข์ และโทมนัส
๔. เพื่อบรรลุธรรมเครื่องพ้น คือ อริยมรรค
๕. เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง
ผู้เจริญสติปัฏฐานต้องมีคุณธรรม ๓ อย่าง คือ
๑. อาตาปี มีความเพียรเครื่องเผากิเลส
๒. สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ
๓. สติมา มีสติ
เมื่อถึงพร้อมด้วยธรรม ๓ อย่างนี้เจริญสติปัฏฐาน ย่อมกำจัดอภิชฌาและโทมนัส(ความยินดีและความยินร้าย) ในโลกได้

(หนังสือบูรณาการแผนใหม่ นักธรรมชั้นเอก รวมทุกวิชา.กรุงเทพฯ:เลี่ยงเชียง,๒๕๔๗.)

นิวรณ์

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จิตที่ไม่มีสมาธิ

จิตที่ไม่มีสมาธิ ก็เพราะมีนิวรณ์ทำให้ไม่ได้ความสงบไม่ใช้ปัญญา จึงจะแสดงนิวรณ์ ๕ และกัมมัฏฐานสำหรับแก้เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
๑. ความพอใจใฝ่ถึงด้วยอำนาจกิเลสกาม เรียกว่า กามฉันทะ แก้ด้วยเจริญอสุภกัมมัฏฐานพิจารณาซากศพ หรือเจริญกายคตาสติ พิจารณาร่างกายอันยังเป็นของน่าเกลียด
๒. ความงุ่นง่านด้วยกำลังโทสะ เรียกรวมว่า พยาบาท แก้ด้วยเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หัดจิตในทางหัดคิดให้เกิดเมตตา สงสาร กรุณา ช่วยเหลือเมื่อมีความสามารถ เกิดความพลอยยินดี ไม่ริษยา เกิดความปล่อยวางหยุดใจที่คิดโกรธได้
๓. ความท้อแท้ หรือคร้าน และความหดหู่ง่วงงุน เรียกว่า ถีนมิทธะ แก้ด้วยเจริญอนุสสติกัมมัฏฐานพิจารณาคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์บ้าง พิจารณาความดีของตนบ้าง เพื่อให้จิตเบิกบาน และมีแก่ใจหวนอุตสาหะ หรือทำอาโลกสัญญา กำหนดหมายแสงสว่าง ให้จิตสว่าง
๔. ความฟุ้งซ่าน หรือคิดพล่าน และความจืดจางเร็ว หรือความรำคราญ เรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจะ แก้ด้วยเพ่งกสิณ กำหนดลมหายใจเข้าออก หัดผูกใจไว้ในอารมณ์เดียว หรือเจริญมรณสติ อันจะทำให้ใจสงบด้วยสังเวช
๕. ความลังเลไม่แน่ลงได้ เรียกว่า วิจิกิจฉา แก้ด้วยเจริญธาตุกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นอยู่ตามเป็นจริง
อีกอย่างหนึ่ง ทำความกำหนดรู้จิตที่มีนิวรณ์ และนิวรณ์ที่มีในจิตกับโทษ เมื่อเกิดปัญญาความรู้จักนิวรณ์ และโทษของนิวรณ์ขึ้น นิวรณ์ก็จะสงบหายไป